UX/UI ไม่ใช่แค่เรื่องออกแบบแอปพลิเคชัน

Datafarm
3 min readJan 31, 2024

ในช่วงนี้ผู้อ่านทุกท่านคงจะได้ยินคำว่า UX/UI บ่อย ๆ อาจเป็นเพราะบริษัทด้านไอทีกำลังให้ความสำคัญกับ User Experience และ User Interface เพื่อรองรับการเติบโตในยุคดิจิทัล ซึ่งหลายคนอาจเข้าใจคำว่า UX/UI Design คือการออกแบบให้แอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ใช้งานง่ายและสวยงามเท่านั้น แต่แท้จริงแล้วศาสตร์ UX/UI ครอบคลุมแทบทุกอย่างในชีวิตประจำวันที่นอกเหนือจากการออกแบบแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์

ในบทความนี้จึงจะพาคุณผู้อ่านไปทำความรู้จักกับ UX/UI ในมุมมองอื่น ๆ กันบ้างค่ะ

Photo by Alvaro Reyes on Unsplash

ก่อนอื่น เรามาทำความเข้าใจนิยามของ UX และ UI ในมุมมองกว้าง ๆ กันก่อน

UX หรือ User eXperience คือ ผลลัพธ์ของการรับรู้และตอบสนอง จากการที่เรามีปฏิสัมพันธ์กับผลิตภัณฑ์, ระบบ, บริการ หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง

— ISO 9241–210, Ergonomics of human-system interaction — Part 210: Human-centered design for interactive systems

ขอยกตัวอย่าง UX ง่าย ๆ ในมุมมองที่เราคุ้นเคย

“เว็บไซต์นี้ใช้งานง่าย ไม่งงเลย”

“แอปนี้ดีมาก สแกนจ่ายเงินได้ไวทันใจสุด ๆ”

“แอปนี้ไม่รู้ต้องเลือกช่องทางจ่ายเงินตรงไหน หาเมนูไม่เจอ งงไปหมดแล้ว”

อยากให้สังเกตว่า ไม่ว่าเราจะรู้สึกดีหรือไม่ดี ก็ล้วนเป็น UX ทั้งหมด เพราะทุกอย่างที่เรารับรู้ หรือตอบสนอง ล้วนเป็นประสบการณ์ของเราที่เกิดขึ้น

Photo by Jason Goodman on Unsplash

ในส่วนของ UI หรือ User Interface คือ ตัวกลาง ที่เข้ามาช่วยให้เรามีปฏิสัมพันธ์เพื่อให้เราบรรลุเป้าหมาย (Goal) ใดเป้าหมายหนึ่ง

ขอยกตัวอย่าง UI ง่าย ๆ ในมุมมองที่เราคุ้นเคย

เราต้องการโอนเงินให้แม่ค้า เพื่อจ่ายค่าอาหาร เราเลยเปิดแอปธนาคารขึ้นมาสแกน

Goal = จ่ายค่าอาหาร

UI = มือถือ, แอปพลิเคชันธนาคาร และ QR Code ของแม่ค้า

Photo by Albert Hu on Unsplash

แต่หากมามอง UX/UI ในมุมมองอื่น ๆ บ้าง ที่ไม่ใช่มุมมองเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน UX/UI มันคืออะไรบ้างล่ะ ?

ขอเกริ่นโดยการพูดถึงหนังสือยอดฮิตของชาว UX อย่าง “The Design of Everyday Things” โดยคุณ Don Norman ว่าทำไมจึงมีหน้าปกเป็นรูปกาน้ำแบบนี้

Photo by supremo.co.uk

คุณ Don Norman เชื่อว่า ประสบการณ์ที่ดีของผู้ใช้ ต้องถูกออกแบบกับทุก ๆ อย่างที่มนุษย์สามารถมีปฏิสัมพันธ์ได้ ไม่ว่าจะเป็น Product, System หรือแม้กระทั่ง Service ดังนั้น กาน้ำที่มีหูจับอยู่ผิดฝั่ง ทำให้เห็นชัดเจนว่า UX นั้นอยู่ในทุก ๆ อย่างแม้แต่กาน้ำใบนี้

“UXUI อยู่ในทุก ๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบ Product, System หรือ Service”

ลองมาดูตัวอย่าง Bad UX จากชีวิตประจำวันกันบ้าง

ทำไมการล้างมือถึงท้าทายแบบนี้ T^T
แก้วดูน่ารัก แต่ว่าใช้ดื่มน้ำแล้วเจ็บตาแปลก ๆ (ฮ่า ๆ)
ก้าวแรกไม่เป็นไร ก้าวต่อไป…

แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าสิ่งที่เราออกแบบมามี UX ที่ดี ?

จริง ๆ มี Metrics (ตัววัดผล) หลายตัวที่ช่วยให้เราตรวจสอบ UX ของงานออกแบบเราได้ ในบทความนี้จะยกตัวอย่างบาง Metrics ให้ผู้อ่านเห็นภาพ UX ในด้านอื่น ๆ มากขึ้น

แต่ไม่จำเป็นเสมอไปว่างานออกแบบเราต้องเป็นไปตาม Metrics เหล่านี้ทั้งหมด ขึ้นอยู่กับ Goal ของ Designer ของแต่ละคนได้เลย :)

Affordance

Affordance เป็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้งานกับวัตถุ เกิดขึ้นเมื่อผู้ใช้งานเห็นลักษณะของวัตถุแล้วรับรู้ว่า “สามารถมีปฏิสัมพันธ์ทางกายภาพ (Physically Action) กับวัตถุนั้นได้อย่างไรบ้าง” เช่น

เวลาที่เราเห็นลูกบิดจับประตู เราก็จะรู้ได้ทันทีว่าต้องหมุนลูกบิดเพื่อเปิด การรับรู้ว่า “หมุนเพื่อเปิดได้” คือ Affordance ของประตู

การออกแบบที่คำนึงถึง Affordance ของผู้ใช้งานจึงเป็นหนึ่งใน Metrics ที่ทำให้เกิด UX ที่ดี

Efficiency of Use

บางทีเรารู้ได้เลยว่าวัตถุนี้มันใช้ยังไง แต่ถ้าใช้งานได้ไม่สะดวก วัตถุนี้อาจถูกรู้สึกว่าใช้งานยากก็ได้ ดังนั้นการออกแบบต้องคำนึงถึงการใช้งานจริงที่สะดวกต่อผู้ใช้ด้วย ยกตัวอย่างรูปกาน้ำด้านล่าง

Consistency & Standards

ผู้ใช้ไม่ควรเกิดความรู้สึกสงสัย ว่าสิ่งที่กำลังจะทำ หรือสิ่งที่กำลังเห็น เป็นสิ่งเดียวกับที่ผู้ใช้คาดหวังไว้หรือไม่ “Consistency & Standards” จึงเข้ามาเป็น Metrics ให้งานออกแบบเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับสิ่งที่ผู้ใช้คาดหวังไว้นั่นเอง ยกตัวอย่างเช่น

ในการเช็กอินโรงแรม ลูกค้ามักคาดหวังว่าเคาน์เตอร์สำหรับเช็กอินจะอยู่บริเวณล็อบบี้หรือทางเข้าโรงแรมเสมอ

หรือถ้าผู้อ่านจองโรงแรม 5 ดาว ผู้อ่านจะคาดหวังอะไรจากโรงแรมนี้กันบ้าง

“มีพนักงานมาช่วยถือของไหม ?”

“ลิฟต์ใช้ได้ปกติ ไม่ชำรุด ?”

“ห้องต้องสะอาด ?”

สิ่งเหล่านี้คงเป็นสิ่งที่เราคาดหวังจากการใช้บริการโรงแรม 5 ดาว แล้วถ้าไม่ตรงกับสิ่งที่เราคาดหวัง เราจะรู้สึกยังไงกับโรงแรมนี้ ?

Legibility

Legibility คือ ความชัดเจน ข้อมูลสำคัญที่อยู่บน Product ทุกคนที่เป็นผู้ใช้งานควรสามารถอ่านได้ไม่ว่าจะอยู่กลุ่มอายุไหน ยกตัวอย่างเช่น

ข้อมูลที่สำคัญที่สุดบน Product เกี่ยวกับอาหาร คือ “วันหมดอายุ / ควรบริโภคก่อน”

บน Product อาหารส่วนใหญ่ บางครั้งมีการใช้ตัวอักษรเล็กมาก ๆ หรือหมึกจาง ๆ จนมองเห็นไม่ชัดเจนบนผลิตภัณฑ์เพื่อบอกวันหมดอายุ ซึ่งบางทีอาจทำให้ผู้ที่ไม่ได้สังเกตถึงวันหมดอายุทานเข้าไปแล้วเกิดอาการท้องเสียหรือป่วยได้เลย

Legibility จึงเป็นอีก Metrics ที่สำคัญในการออกแบบ เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าใจข้อมูลบนงานออกแบบของเราได้อย่างชัดเจน

สำหรับผู้อ่านที่สนใจเรื่อง UX Metrics เพิ่มเติม เพื่อนำไปวัดผลงานออกแบบ UX/UI สำหรับเว็บไซต์, แอปพลิเคชัน หรือ Digital Product โดยเฉพาะ สามารถเข้าไปอ่านเพิ่มเติมได้ที่ 10 Usability Heuristics for User Interface Design ( https://www.nngroup.com/articles/ten-usability-heuristics/) จาก Nielsen Norman Group กันได้เลย

จากที่เกริ่นไว้ช่วงแรกว่า UX/UI นั้นปรากฏอยู่ในทุก ๆ ที่ ไม่ใช่แค่การออกแบบเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน เพียงแค่ว่าเราไม่ได้สังเกตและรับรู้การมีอยู่ของ UX รอบ ๆ ตัว เพราะสิ่งนั้นมันอาจถูกออกแบบมาดี ตรงกับที่เราคาดหวังจนเราไม่รู้สึกติดขัดอะไร แต่เมื่อเราเจอ Product หรือ Service ที่เราใช้แล้วรู้สึก “ขัดใจ” เรามักจะคิดว่าสิ่งนี้ถูกออกแบบมาแปลก ๆ

ในครั้งถัดไปหากผู้อ่านรู้สึกขัดใจกับบางอย่าง ลองนำ UX Metrics เหล่านี้ไปเช็กว่า ทำไมสิ่งนั้นถึงทำให้เรา “ขัดใจ” ดูนะคะ ว่ามีสาเหตุมาจากอะไร…

จบไปแล้วสำหรับบทความนี้ หากมีข้อสงสัยหรืออยากเข้ามา Discuss กัน สามารถเข้ามา Comment พูดคุยกันได้เลยนะคะ :)

--

--

No responses yet