Smartphone Safety Tips

Datafarm
2 min readOct 2, 2024

ในยุคที่เทคโนโลยีและดิจิทัลครองโลก โทรศัพท์มือถือกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสาร การทำงาน หรือแม้แต่การทำธุรกรรมทางการเงิน อย่างไรก็ตาม ความสะดวกสบายนี้ก็มาพร้อมกับความเสี่ยงจากมิจฉาชีพที่คอยจับตามองการใช้งานของเรา เพื่อให้ผู้อ่านได้มีความรู้และสามารถป้องกันตนเองจากการถูกโจมตี เราจึงได้รวบรวมเทคนิคและวิธีการที่จำเป็นในการใช้สมาร์ทโฟนให้ปลอดภัยจากภัยคุกคามทางไซเบอร์มาแนะนำกันค่ะ

1. หลีกเลี่ยงการดัดแปลงระบบปฏิบัติการ (Jailbreak และ Root)

การดัดแปลงระบบปฏิบัติการของสมาร์ทโฟน ทั้งการเจลเบรก (Jailbreak) สำหรับอุปกรณ์ iOS และการรูท (Root) สำหรับ Android เป็นกระบวนการที่ผู้ใช้ทำเพื่อปลดล็อกข้อจำกัดที่ผู้ผลิตตั้งไว้ โดยช่วยให้สามารถเข้าถึงฟีเจอร์และการปรับแต่งต่าง ๆ ได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม การดัดแปลงเหล่านี้มีข้อเสียและความเสี่ยงหลายอย่างเช่น

  • เป็นการเปิดสิทธิ์เข้าถึงระบบทำให้ผู้ไม่ประสงค์ดีสามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวได้ง่ายขึ้น เพิ่มความเสี่ยงในการตกเป็นเหยื่อของการโจมตีไซเบอร์
  • การติดตั้งแอปพลิเคชันหรือการปรับแต่งที่ไม่ได้รับการรับรอง อาจทำให้ระบบทำงานผิดปกติและแอปพลิเคชันบางตัวหยุดทำงาน
  • การเจลเบรกหรือรูทจะทำให้การรับประกันของอุปกรณ์สิ้นสุดลง หากเกิดปัญหาใด ๆ เราจะไม่สามารถเคลมหรือเรียกร้องสิทธิ์จากผู้ผลิตได้
  • เมื่อทำการดัดแปลง อาจไม่สามารถติดตั้งหรืออัปเดตซอฟต์แวร์ใหม่ได้ ซึ่งอาจส่งผลให้ระบบล้าสมัยและเสี่ยงต่อช่องโหว่ด้านความปลอดภัย

2. ตั้งรหัสผ่านให้มีความปลอดภัยคาดเดาได้ยาก

การตั้งรหัสผ่านหรือรหัสเข้าเครื่องที่คาดเดายากเป็นขั้นตอนที่สำคัญในการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลและความเป็นส่วนตัวของเรา โดยเฉพาะการใช้รหัสผ่านเดียวกันกับทุกแอปพลิเคชันควรหลีกเลี่ยงอย่างมาก และควรสร้างรหัสที่ไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูลส่วนตัว เช่น วันเกิด เบอร์โทรศัพท์ เพราะข้อมูลเหล่านี้สามารถถูกคาดเดาได้ง่าย

นอกจากนี้ อย่าเปิดเผยรหัสผ่านให้กับผู้อื่นโดยเด็ดขาด โดยเฉพาะในขณะใช้งาน การกดรหัสควรทำด้วยความระมัดระวัง หลีกเลี่ยงการทำในที่ที่มีคนอยู่ใกล้หรือมีกล้องวงจรปิด เพื่อป้องกันการถูกแอบดู และการใช้เทคโนโลยี เช่น Face ID หรือลายนิ้วมือ ก็เป็นทางเลือกที่ดีในการเสริมความปลอดภัย และลดความเสี่ยงจากการถูกมองเห็นรหัสผ่านในขณะใช้งาน

3. ระมัดระวังในการดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน

การดาวน์โหลดแอปพลิเคชันควรทำจากร้านค้าอย่างเป็นทางการ (Official Store) เท่านั้น เช่น สำหรับ iPhone และ iPad ควรใช้ App Store และสำหรับ Android ให้ดาวน์โหลดจาก Google Play Store เพราะถ้าดาวน์โหลดจากแหล่งอื่นอาจเสี่ยงต่อการติดมัลแวร์หรือแอปพลิชันที่เป็นอันตราย ถึงแม้ว่าแอปจะอยู่ใน Official Store แต่ถ้าไม่รู้ว่าแอปนั้นทำอะไร ก็อาจถูกหลอกให้ดาวน์โหลดแอปที่มีวัตถุประสงค์ไม่ดี เช่น แอปที่ขอสิทธิ์เข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ในมือถือเพื่อควบคุมและโอนเงินออกจากบัญชี ซึ่งผู้ใช้ Android ทาง Google จะตรวจสอบและรายงานแอปพลิเคชันที่มีมัลแวร์อยู่เสมอ ดังนั้นการดาวน์โหลดแอปนอก Google Play Store จะเพิ่มความเสี่ยง

สำหรับผู้ใช้ iOS ทาง Apple จะไม่อนุญาตให้ดาวน์โหลดแอปนอก App Store แต่ก็ยังมีมิจฉาชีพที่อาจแอบอ้างเป็น Apple เพื่อหลอกให้ยืนยันข้อมูลส่วนตัวได้ ดังนั้นควรระวังอยู่เสมอ

หลายท่านคงเคยได้ยินข่าวว่ามีผู้เสียหายจากการดาวน์โหลดแอปพลิเคชันปลอมที่มีมัลแวร์ ทำให้ถูกโอนเงินออกจากบัญชีไปทั้งหมดอยู่เรื่อย ๆ ดังนั้นก่อนติดตั้งแอปใด ๆ ควรตรวจสอบที่มาอย่างรอบคอบก่อน

4. หลีกเลี่ยงการเชื่อมต่อ Wi-Fi สาธารณะ

การใช้ Wi-Fi สาธารณะอาจดูสะดวกสบาย แต่ก็มีความเสี่ยงที่ไม่ควรมองข้าม หากเราเลือกเชื่อมต่อกับสัญญาณ Wi-Fi ที่ไม่ใช่จากผู้ให้บริการที่เชื่อถือได้ อาจถูกมิจฉาชีพดักจับข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลทางการเงินไปได้ง่าย ๆ

เพื่อความปลอดภัย ควรหลีกเลี่ยงการทำธุรกรรมที่สำคัญ เช่น การโอนเงินหรือการกรอกข้อมูลส่วนตัว ขณะเชื่อมต่อกับ Wi-Fi สาธารณะ และควรตรวจสอบสัญญาณ Wi-Fi ให้ดีทุกครั้งก่อนเชื่อมต่อ

5. ระมัดระวังเมื่อเปิดลิงก์หรือไฟล์แนบ

มิจฉาชีพมักใช้วิธีการส่งลิงก์หรือไฟล์แนบที่เป็นอันตรายผ่านทางอีเมลหรือข้อความเพื่อหลอกลวงผู้ใช้งาน การเปิดลิงก์หรือไฟล์แนบจากแหล่งที่ไม่รู้จักสามารถนำไปสู่การถูกโจมตีทางไซเบอร์ได้

เมื่อได้รับข้อความจากผู้ส่งที่ไม่รู้จักและมีลิงก์หรือไฟล์แนบ ควรหลีกเลี่ยงการคลิกทันที เพราะลิงก์อาจนำไปยังเว็บไซต์ปลอมที่ออกแบบมาเพื่อขโมยข้อมูลส่วนตัว เช่น ชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน หรือข้อมูลการเงิน การทำเช่นนี้เรียกว่าฟิชชิง (Phishing)

นอกจากนี้ ไฟล์แนบอาจมีมัลแวร์ซึ่งสามารถติดตั้งโปรแกรมอันตรายลงในอุปกรณ์ของเราได้ทันที เมื่อมัลแวร์ถูกติดตั้งแล้ว มันอาจเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของเรา หรือทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบได้

วิธีสังเกตลิงก์ปลอม

  • หากอีเมลหรือข้อความมาจากผู้ส่งที่ไม่รู้จัก หรือมีที่อยู่อีเมลที่แปลก ๆ ให้ระมัดระวังเป็นพิเศษ
  • หากข้อความมีการใช้ภาษาที่ไม่เป็นทางการหรือดูไม่เป็นธรรมชาติ เช่น การสะกดคำผิด หรือมีการใช้สัญลักษณ์แปลก ๆ ควรระวัง
  • ดู URL ที่แสดง ถ้า URL ดูแปลกหรือไม่ตรงกับเว็บไซต์ที่ควรจะเป็น ให้หลีกเลี่ยงการคลิก
  • อย่าคลิกไฟล์แนบที่มีนามสกุลแปลก ๆ หรือที่ไม่คุ้นเคย เช่น .exe, .scr, .bat เพราะอาจเป็นมัลแวร์
  • หากมีข้อเสนอหรือโปรโมชั่นที่ดูดีเกินจริง เช่น เงินรางวัลหรือสินค้าฟรี ควรระวังว่าอาจเป็นการหลอกลวง
  • หากมีข้อความขู่หรือกดดันให้ต้องคลิกลิงก์เพื่อยืนยันตัวตนหรือดำเนินการใด ๆ ควรหลีกเลี่ยง

6. เปิดใช้งานการยืนยันตัวตนแบบสองขั้นตอน (2FA)

การยืนยันตัวตนแบบสองขั้นตอน (Two-Factor Authentication: 2FA) เป็นวิธีการที่ช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับบัญชีของเราโดยการสร้างชั้นการป้องกันเพิ่มเติม เมื่อเข้าสู่ระบบบัญชี เช่น อีเมลหรือโซเชียลมีเดีย หลังจากที่ป้อนรหัสผ่านแล้ว ระบบจะมีการส่งรหัส OTP (One-Time Password) ไปยังโทรศัพท์มือถือ

การทำงานของ 2FA:

ป้อนรหัสผ่าน: ขั้นแรกจะต้องป้อนรหัสผ่านตามปกติ ซึ่งเป็นข้อมูลที่เราจะรู้เพียงคนเดียว

ยืนยันตัวตนด้วย OTP หรือแอป Authenticator:

  • รหัส OTP: หลังจากที่ป้อนรหัสผ่าน ระบบจะส่งรหัส OTP (One-Time Password) ไปยังโทรศัพท์มือถือ ซึ่งจะต้องกรอกรหัสนี้เพื่อเข้าสู่ระบบ
  • แอป Authenticator: อีกทางเลือกหนึ่งคือการใช้แอปพลิเคชันสำหรับการยืนยันตัวตน เช่น Google Authenticator หรือ Authy ซึ่งจะสร้างรหัสยืนยันแบบไม่ซ้ำกันในช่วงเวลาที่กำหนด รหัสเหล่านี้จะถูกสร้างขึ้นในอุปกรณ์ของเราและไม่สามารถเข้าถึงได้จากภายนอก

การใช้ 2FA ทำให้การเข้าถึงบัญชีมีความปลอดภัยมากขึ้น แม้ว่ารหัสผ่านของจะถูกเปิดเผย แต่ผู้ไม่หวังดีจะไม่สามารถเข้าสู่ระบบได้หากไม่มีรหัส OTP หรือรหัสจากแอป Authenticator การใช้วิธีการยืนยันตัวตนแบบสองขั้นตอนจึงช่วยป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ เช่น ฟิชชิง (Phishing) หรือการแฮ็กบัญชี

7. อัปเดตซอฟต์แวร์อย่างสม่ำเสมอ

การอัปเดตซอฟต์แวร์เป็นหนึ่งในวิธีที่สำคัญในการป้องกันอุปกรณ์ของเราจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะในยุคที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมิจฉาชีพมักหาวิธีใหม่ ๆ ในการโจมตีผู้ใช้งาน

ทำไมการอัปเดตซอฟต์แวร์จึงสำคัญ?

  • ปิดช่องโหว่ด้านความปลอดภัย: ซอฟต์แวร์ที่ไม่ได้รับการอัปเดตอาจมีช่องโหว่ที่ผู้โจมตีสามารถใช้ประโยชน์ได้ การอัปเดตซอฟต์แวร์จะช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวและทำให้ระบบมีความปลอดภัยยิ่งขึ้น
  • ฟีเจอร์ใหม่และการปรับปรุง: การอัปเดตไม่เพียงแต่ช่วยป้องกันช่องโหว่ แต่ยังนำเสนอฟีเจอร์ใหม่ ๆ และการปรับปรุงการทำงาน ซึ่งสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานได้
  • ความเข้ากันได้กับอุปกรณ์อื่น: การอัปเดตช่วยให้ซอฟต์แวร์เข้ากันได้กับอุปกรณ์และแอปพลิเคชันใหม่ ๆ ที่อาจมีการพัฒนา จึงช่วยลดปัญหาความเข้ากันไม่ได้ที่อาจเกิดขึ้น

8.สร้างความตระหนักรู้ในเรื่องความปลอดภัย

ยิ่งอยู่ในยุคเทคโนโลยีมากเท่าไหร่ ความปลอดภัยสำคัญยิ่งสำคัญมาก เพราะมีการหลอกลวงเกิดขึ้นง่ายมากเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น ข้อความที่ให้กดลิงก์โอนเงิน หรือดาวน์โหลดแอปพลิเคชันที่อันตราย หรือบางครั้งก็อาจมาในรูปแบบ QR Code หรือปุ่มให้กด

เมื่อเจออะไรที่น่าสงสัย อย่างแรกเลยคือต้องมีสติคิดให้ดี ว่ามันสมเหตุสมผลไหม ถ้าฟังดูดีเกินไปหรือแปลก ๆ ให้สงสัยไว้ก่อน อย่ารีบดาวน์โหลดแอปพลิเคชันหรือไฟล์จากแหล่งที่ไม่รู้จัก และตรวจสอบ QR Code ด้วยแอปพลิเคชันที่เชื่อถือได้

สุดท้าย อย่าแชร์ข้อมูลส่วนตัวหรือข้อมูลเงินกับคนที่ไม่ไว้ใจ การมีความระมัดระวังและตระหนักรู้อยู่เสมอจะช่วยให้เราปลอดภัยจากการสูญเสียทรัพย์สินได้มากขึ้น!

สุดท้ายนี้ผู้เขียนหวังว่าทุกคนจะมีการตรวจสอบความปลอดภัยและมีสติในการใช้งานโทรศัพท์อยู่เสมอ เพื่อให้มั่นใจว่าเราจะไม่ตกเป็นเหยื่อของการโจมตีทางไซเบอร์

ในโลกที่เทคโนโลยีกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตประจำวัน ความระมัดระวังคือกุญแจสำคัญในการรักษาความปลอดภัยของเรานะคะ

--

--