TLDR; Password Manager เป็นโปรแกรมที่ทำหน้าที่เหมือนตู้เซฟสำหรับจัดเก็บชื่อผู้ใช้และรหัสผ่านด้วยการเข้ารหัสที่แข็งแกร่ง และสามารถสร้างรหัสผ่านที่มีความซับซ้อนโดยที่ผู้ใช้จำเพียงแค่ Master Password
ในปัจจุบันที่ Services ต่าง ๆ ให้บริการในรูปแบบออนไลน์มากขึ้น ผู้ใช้ต่างต้องสร้างบัญชีสำหรับใช้บริการเหล่านั้นเป็นจำนวนมาก การที่ต้องใช้รหัสผ่านที่ซับซ้อนและแตกต่างกันเพื่อความปลอดภัยจึงกลายเป็นปัญหาใหญ่สำหรับผู้ใช้งาน เพราะยิ่งมีบัญชีมาก ก็ยิ่งจำรหัสผ่านของแต่ละบัญชีได้ยาก จึงทำให้ผู้ใช้งานตั้งรหัสที่ง่ายต่อการจดจำหรือใช้รหัสซ้ำกันในหลาย Services
จากการสำรวจจากข้อมูลรหัสผ่านที่เกิดการรั่วไหลมากกว่า 15,212,645,925 รหัสผ่าน พบว่า 10 อันดับรหัสผ่านที่คาดเดาง่ายที่สุด คือ
- 123456
- 123456789
- qwerty
- password
- 12345
- qwerty123
- 1q2w3e
- 12345678
- 111111
- 1234567890
รหัสทำให้ง่ายต่อการคาดเดาและ Brute-force Attack หรือในกรณีที่ใช้รหัสผ่านซ้ำกัน เมื่อเกิดการรั่วไหลของข้อมูลในเว็บไซต์ที่ใช้บริการอยู่ จะมีโอกาสที่ผู้ไม่ประสงค์ดีจะนำรหัสผ่านที่รั่วไหลไปมาใช้ซ้ำ ทำให้บัญชีที่ใช้รหัสผ่านเดียวกันไม่ปลอดภัย โดยสามารถตรวจสอบได้ที่ haveibeenpwned.com
Password Manager คือ ?
Password Managers คือซอฟต์แวร์ หรืออุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ที่ช่วยจัดเก็บและจัดการรหัสผ่าน และช่วยสร้างรหัสผ่านที่คาดเดาได้ยาก โดยทั่วไปรหัสผ่านที่เก็บไว้ทั้งหมดจะถูกเข้ารหัสและถูกจัดเก็บในเซิร์ฟเวอร์ของผู้ให้บริการหรือในอุปกรณ์ของผู้ใช้งาน ให้ความสะดวกกับผู้ใช้งาน โดยผู้ใช้งานต้องสร้างรหัสผ่านหลัก (Master Password) และจดจำแค่รหัสผ่านหลัก (Master Password) เพื่อเข้าถึงรหัสผ่านที่จัดเก็บไว้
โดยแต่ละผลิตภัณฑ์จะมีความแตกต่างกัน มีทั้งแบบ Open source และ Subscription ซึ่งจะมีความสามารถแตกต่างกันไป โดยส่วนมากจะมีความสามารถพื้นฐาน คือ การสุ่มรหัสผ่านที่มีความแข็งแกร่ง การกรอกฟอร์มในเว็บไซต์ให้อัตโนมัติด้วยข้อมูลที่เราบันทึกไว้ในซอฟต์แวร์
ทำไมถึงควรใช้ Password Manager?
จากการสำรวจเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้รหัสผ่านสำหรับการใช้บริการออนไลน์พบว่า
- ประมาณ 50% ของผู้ตอบแบบสอบถามยังคงใช้รหัสผ่านเดียวกันทุกบัญชี (LastPass, 2021)
- ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตที่มีอายุมากกว่า 50 ปี ส่วนมากจะใช้รหัสผ่านที่ไม่ซ้ำกันในแต่ละบัญชี (Comparitech, 2020)
- ประมาณ 60% ของผู้ตอบแบบสอบถามให้เหตุผลว่า ขี้เกียจจะสร้างรหัสผ่านใหม่จึงใช้รหัสผ่านเดิมอยู่บ่อยครั้ง (MSN, 2021)
- ประมาณ 60% ของผู้ตอบแบบสอบถาม จะสร้างรหัสผ่านใหม่ที่มีความคล้ายกับรหัสผ่านเดิมที่เคยสร้าง (MSN, 2021)
- 35% ของผู้ตอบแบบสอบถาม เลือกรหัสผ่านที่สะดวกในการจดจำ มากกว่าความปลอดภัยของรหัสผ่าน (SecureLink, 2021)
เนื่องจากสามารถสร้างและจัดเก็บรหัสผ่านที่มีความซับซ้อนให้รอดพ้นจากผู้ไม่ประสงค์ดี และสร้างความสะดวกสบายให้กับผู้ใช้งาน เช่น
- สามารถสร้างรหัสผ่านที่ปลอดภัยสูงให้โดยอัตโนมัติ
- ประหยัดเวลา นอกเหนือจากการจัดเก็บรหัสผ่าน Password manager ยังสามารถป้อนข้อมูลที่เราได้บันทึกไว้ได้อัตโนมัติ เช่น ชื่อ ที่อยู่อีเมล หมายเลขโทรศัพท์ และข้อมูลบัตรเครดิตได้
- สามารถใช้เป็น Multi-factor authentication (MFA) ได้
- ในบางผลิตภัณฑ์สามารถแจ้งเตือนการ Phishing ได้
Password Managers ทำงานยังไง?
Password Managers จะเข้ารหัสบัญชีผู้ใช้และเก็บในรูปแบบไฟล์เข้ารหัส (Vault) ส่วนมากมักจะใช้การเข้ารหัสที่แข็งแกร่ง เช่น AES-256 ,AES-128 ซึ่งในกรณีที่เกิดการรั่วไหลของข้อมูล ผู้ไม่ประสงค์ดีจะได้ไฟล์เข้ารหัส (Vault) ไปแทน ถ้าไม่มีรหัสผ่านหลัก (Master Password)
Password Managers แบ่งออกเป็น 3 ประเภท
1.Offline Password Managers
ซอฟต์แวร์จะทำการเข้ารหัสข้อมูลที่ผู้ใช้ทำการบันทึก โดยไม่ต้องทำการเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ต (Air Gap) ซึ่งจะเป็นการเพิ่มความปลอดภัย การเก็บไฟล์เข้ารหัส (Vault) จะถูกจัดเก็บในหน่วยความจำของอุปกรณ์ เช่น โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ โดยไฟล์ที่เข้ารหัสแล้วจะถูกเก็บแยกกับตัวซอฟต์แวร์ ทำให้สามารถนำไฟล์ที่เข้ารหัสไปแยกเก็บที่อื่นได้ บางผลิตภัณฑ์สามารถแยกไฟล์เข้ารหัสได้ทำให้เพิ่มความปลอดภัยในการเก็บมากขึ้น
อย่างไรก็ตามก็ยังต้องใช้รหัสผ่านหลัก (Master Password) ในการเข้าถึงไฟล์เข้ารหัส ยิ่งรหัสผ่านหลัก (Master Password) มีความซับซ้อนมากเท่าไรยิ่ง ลดความเสี่ยงในการรั่วไหลของรหัสผ่าน ในกรณีที่อุปกรณ์ถูกขโมย หรือผู้ไม่ประสงค์ดีสามารถเข้าถึงไฟล์ที่เข้ารหัส (Vault) ได้ ทำให้ยากต่อการนำไฟล์ที่เข้ารหัส (Vault) ไปทำการ Brute-Force Attack
ข้อดี
- ลดความเสี่ยงในการรั่วไหลของข้อมูล
- สามารถแยกเก็บเป็นหลายไฟล์เข้ารหัส (Vault) โดยแยก รหัสผ่านหลัก(Master Password)ได้
- Air Gap
- ฟรี
ข้อเสีย
- เสี่ยงต่อการสูญหาย
- ไม่สะดวกต่อการใช้หลายอุปกรณ์
2. Online Password Manager Services
โดยส่วนมากซอฟต์แวร์จะเป็น web-based ที่เข้าใช้งานด้วยส่วนขยายของเบราเซอร์ และโมบายล์แอปพลิเคชั่น โดยซอฟต์แวร์จะทำการเข้ารหัสข้อมูลที่ผู้ใช้ทำการบันทึก และจะเก็บไฟล์เข้ารหัส (Vault) ในเซิร์ฟเวอร์ของผู้ให้บริการ ช่วยให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงได้หลายอุปกรณ์
การทำงานของ Online password manager จะทำงานโดยการเข้ารหัสด้วยรหัสผ่านหลัก (Master Password) ที่ฝั่งผู้ใช้งาน (Client-side) ก่อนที่จะนำไปเก็บที่เซิร์ฟเวอร์ของผู้ให้บริการ ซึ่งผู้ให้บริการจะไม่สามารถอ่านไฟล์เข้ารหัส (Vault) ที่ผู้ใช้ส่งเข้าไปเก็บที่เซิร์ฟเวอร์ของผู้ให้บริการ แต่อย่างไรก็ตามถ้าหากอุปกรณ์ที่ใช้ถูกฝัง Keylogger ก็อาจจะทำให้เกิดการรั่วไหลของรหัสผ่านได้ ถ้าไม่ได้เปิดใช้งาน Multi-factor authentication(MFA)
ข้อดี
- สามารถใช้งานได้หลายอุปกรณ์
- บางผู้ให้บริการมีการตรวจสอบ Phishing ก่อนที่จะกรอกรหัสผ่าน
ข้อเสีย
- ใช้อินเตอร์เน็ตในการเข้าใช้งาน
- ผู้ให้บริการเป็นคนเก็บไฟล์เข้ารหัส (Vault)
- มีค่าบริการ
3. Token-based Password Managers
Token-based password managers หรือ Security token จะมีรูปแบบเป็นฮาร์ดแวร์คล้ายกับ USB Device ที่ทำหน้าที่เก็บ Key ที่ใช้ปลดล็อคไฟล์เข้ารหัส (Vault) ไว้ แต่ตัวเครื่องจะไม่ได้เก็บรหัสผ่านหลัก (Master Password) ไว้ โดยการใช้งานจะไม่จำเป็นต้อง sync กับ ไฟล์เข้ารหัส (Vault) ในครั้งแรก และจะทำการสุ่ม Key ใหม่ทุกครั้งที่ใช้งาน
สามารถตั้งเป็น Multi-factor authentication(MFA) ได้ โดยใช้ร่วมกับรหัสผ่านหลัก (Master Password) เพื่อลดความเสี่ยงในการรั่วไหลของไฟล์เข้ารหัส (Vault) ในกรณีที่รหัสผ่านหลัก (Master Password) เกิดการรั่วไหล ผู้ไม่ประสงค์ดีจะไม่สามารถใช้งานไฟล์เข้ารหัส (Vault) ได้ ถ้าไม่มี Key จากฮาร์ดแวร์
ข้อดี
- เก็บรหัสผ่านไว้ได้หลายที่
- มีความปลอดภัยมากขึ้น
ข้อเสีย
- ถ้าอุปกรณ์หาย จะไม่สามารถใช้งาน (Vault) ได้
อย่างไรก็ตาม Password Manager สามารถช่วยได้แค่การจัดการรหัสผ่าน และลดความเสี่ยงในด้านรหัสผ่านที่อ่อนแอ (Weak password) แต่ยังมีความเสี่ยงที่รหัสผ่านหลัก (Master Password) อาจจะรั่วไหล และควรจะมี Password Manager มากกว่า 1 ที่ หรือเปิดใช้งาน Multi-factor authentication(MFA)
“Don’t put all your eggs in one basket”
Reference :
How do password managers work?
4 เหตุผลทำไมถึงควรใช้ Password Manager
Strong Password Ideas For Greater Protection
รู้จัก “Two-Factor Authentication” ระบบยืนยันตัวตน 2 ชั้น ป้องกันบัญชีถูกแฮก
55 Important Password Statistics You Should Know: 2022 Breaches & Reuse Data
Most common passwords: latest 2022 statistics
7 Bad Password Habits to Break Now
Consumer Password Habits: Concerning, but Not Surprising
What do client side and server side mean? | Client side vs. server side